ผู้หญิงต้องอ่าน เพราะอะไรถึงเสี่ยงปัสสาวะอักเสบมากกว่าผู้ชาย

ปัสสาวะอักเสบไม่ใช่เรื่องล้อเล่น ต้องรีบพบแพทย์ด่วน

ปัจจุบันมีโรคภัยต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งโรคติดต่อ โรคไม่ติดต่อ และโรคทางพันธุกรรม ซึ่งไม่ว่าจะเป็นโรคประเภทไหนทุกคนก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตัวเองและครอบครัวเป็นแน่ เพราะการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงต้องเป็นความปรารถนาของทุกคน แต่ถึงอย่างไรโรคบางอย่างเราก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้พ้น ถึงแม้จะดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเองมาเป็นอย่างดี แต่เมื่อถึงคราวทำอะไรพลาดสักนิด กลับกลายมาเป็นโรคร้ายที่ทำให้ร่างกายของเราอ่อนแอลง

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis) เป็นอีกโรคที่หลายคนละเลยและมองข้าม คิดว่าเป็นอาการธรรมดาที่ไม่ได้ส่งผลอะไรมากนัก แต่ทว่าโรคนี้ถือเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียประเภทหนึ่ง ที่ส่งผลต่อวัยวะเพศและระบบทางเดินปัสสาวะโดยตรง ที่สำคัญยังสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การกลั้นปัสสาวะ และการทำความสะอาดทวารหนักก่อนทำความสะอาดอวัยวะเพศ เป็นต้น

อาการของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

การที่คนเราจะป่วยเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบนั้น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะ โดยแบคทีเรียดังกล่าวจะมี เอสเชอริเชีย โคไล หรือ อีโคไล (Escherichia coli : E. coli), เคล็บซิลลา (Klebsiella), สูโดโมแนส (Pseudomonas) และเอนเทอโรแบกเตอร์ (Enterobacter) ซึ่งแบคทีเรียทั้งหมดนี้จะเป็นแบคทีเรีย ที่มีอยู่บริเวณรอบ ๆ ทวารหนัก สามารถเข้าสู่ร่างกายได้จากหลายพฤติกรรม เช่น การใช้ผ้าอนามัยแบบสอด การมีเพศสัมพันธ์ การทำความสะอาดหลังการขับถ่ายแบบผิดวิธี เป็นต้น สำหรับอาการที่บ่งบอกว่าคุณกำลังป่วยโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ มีดังนี้

  1. ปัสสาวะบ่อย แต่ครั้งละน้อย ๆ มีอาการคล้ายถ่ายปัสสาวะไม่สุด
  2. รู้สึกปวดบริเวณท้องน้อย ปวดแสบ ขัด ขณะปัสสาวะโดยเฉพาะตอนปัสสาวะสุด
  3. ปัสสาวะขุ่น บางครั้งมีกลิ่นผิดปกติ ในบางรายที่เป็นมากอาจปัสสาวะมีเลือดปน
อาการของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
อาการของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

วิธีป้องกันและการดูแลตัวเองของผู้ป่วยกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

  1. ไม่กลั้นปัสสาวะ หากรู้สึกปวดปัสสาวะต้องบังคับตัวเองให้เข้าห้องน้ำทันที
  2. ผู้สูงอายุหลายคนป่วยเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เนื่องจากนอนหลับนานโดยไม่ลุกขึ้นมาปัสสาวะ ดังนั้นผู้สูงอายุจึงไม่ควรดื่มน้ำหรือรับประทานผลไม้ที่มีน้ำมาก ๆ ก่อนเข้านอน
  3. รักษาสุขอนามัยบริเวณอวัยวะเพศด้วยการทำความสะอาดจากด้านหน้าไปด้านหลัง
  4. ไม่สวนล้างช่องคลอดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ สามารถทำความสะอาดด้วยสบู่ธรรมดาก็เพียงพอแล้ว
  5. หลังมีเพศสัมพันธ์ ควรปัสสาวะทิ้งและทำความสะอาดร่างกายทันที
  6. ควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น เบาหวาน เพราะหากควบคุมไม่ได้ก็จะติดเชื้อซ้ำแล้วซ้ำอีก
  7. ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน หากมีการติดเชื้อซ้ำ ๆ อาจจำเป็นต้องใช้ยาปรับฮอร์โมนแบบเฉพาะที่ช่วย เช่น ยาเหน็บเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นบริเวณเยื่อบุช่องคลอดและเยื่อบุท่อปัสสาวะเพื่อลดการติดเชื้อ แต่เนื่องจากการใช้ฮอร์โมนอาจมีผลข้างเคียงได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
  8. ผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยาปรับภูมิต้านทาน จำเป็นต้องปรับยาตามดุลยพินิจของแพทย์

สำหรับแนวทางการรักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หลัก ๆ การรักษาคือทางโรงพยาบาลจะใช้ยาปฏิชีวนะประมาณ 3 – 5 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดยา และใช้การรักษาร่วมกันกับการรักษาตามอาการ หากมีความจำเป็นแพทย์ก็จะจ่ายยาแก้ปวดชนิดคลายการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ และผู้ป่วยก็ต้องพยายามดื่มน้ำให้มากขึ้น ที่สำคัญผู้ป่วยไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เนื่องจากยาที่ได้อาจไม่ตรงกับชนิดของเชื้อโรคและอาจทำให้ร่างกายเกิดการดื้อยาได้ง่าย ดังนั้นเข้ารับการตรวจวินิจฉัยจากโรงพยาบาลตั้งแต่เริ่มต้นจะเป็นหนทางการรักษาให้หายขาดและดีที่สุด

โรคร้ายมีอยู่รอบตัวเรา วันนี้ปกติดี พรุ่งนี้อาจจะป่วยก็ไม่มีใครสามารถรู้ได้ล่วงหน้า ดังนั้นวิธีที่เราสามารถทำได้คือการป้องกันตัวเองให้ดีที่สุด ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เสี่ยง เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หมั่นขยับร่างกายออกกำลังกาย และที่สำคัญเลือกทำประกันสุขภาพดี ๆ ไว้สักตัว เพราะหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นมา จะได้เอาเวลาไปรักษาตัว ไม่ต้องกังวลกับเรื่องค่าใช้จ่าย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *